การชำระเงินด้วย QR code ทางเลือกใหม่ของการชำระเงินในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ

การชำระเงินด้วย QR code : ทางเลือกใหม่ของการชำระเงินในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ

ระบบพร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินรายย่อยที่สำคัญของไทย เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2559 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นสังคมดิจิทัลเนื่องจากได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน จากบริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมจูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ประชาชนปรับพฤติกรรมมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก

“คนละครึ่ง” จุดเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการใช้จ่ายคนไทย

จากพร้อมเพย์ที่ภาครัฐพยายามหาแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งเงินคืนภาษี เงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการในทุกด้าน แต่ตัวเลขการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ในปี 2562 ยังอยู่ที่ราว 2,567 ล้านรายการ หรือพูดง่าย ๆ คือเกิดการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ 2,567 ล้านครั้ง ซึ่งหากเทียบกับตัวเลขในปี 2563 ที่ขยับมาเป็น 5,306 ล้านครั้ง และในปี 2564 ที่โตก้าวกระโดดมาเป็น 10,067 ล้านครั้ง (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

ตัวเลขการใช้งานที่โตอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับโครงการ “คนละครึ่ง” แม้คนละครึ่งจะไม่ได้ใช้พร้อมเพย์โดยตรง แต่อานิสงส์ของโครงการคนละครึ่งที่มีผู้ได้รับสิทธิ์เกือบ 40 ล้านคน และมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 2 แสนร้านค้า ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนไทยไปตลอดกาล

จากการเกิดขึ้นของคนละครึ่ง ทำให้ร้านค้าจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาผูกบัญชีธนาคารของร้านค้าตนเองกับระบบพร้อมเพย์ และเชื่อมโยงไปถึงแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ซึ่งเป็นช่องทางการรับเงินของโครงการคนละครึ่ง ที่สร้างความสะดวกจนเคยชินให้กับผู้ซื้อที่สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่ต้องการได้เพียงแค่ยกโทรศัพท์มือถือมาแสกน QR Code เงินจาก “เป๋าตังค์” ของผู้ซื้อ ก็ถูกโอนไปยัง “ถุงเงิน” ของร้านค้า เป็นที่เรียบร้อย

แม้ปัจจุบันโครงการ “คนละครึ่ง” จะสิ้นสุดไปแล้วทั้ง 5 เฟส แต่สิ่งที่ยังคงอยู่และจะยังอยู่ต่อไปคือความคุ้นชินของผู้บริโภคในการสแกนจ่าย หรือโอนจ่าย โดยไม่ต้องกังวลว่า วันนี้ลืมกระเป๋าสตางค์หรือไม่ หรือต้องเดินหาตู้ ATM เพื่อกดเงินจากบัญชีธนาคาร และยังไม่ต้องรอร้านค้าไปแลกเงินเพื่อหาเงินมาทอน ในขณะที่ร้านค้าเองก็มีข้อมูลรายรับทั้งหมดของร้านค้า โดยเฉพาะร้านที่มีหลายสาขาหรือมีพนักงานเก็บเงินหลายคนก็ตัดความกังวลเรื่องเงินทองจะรั่วไหลออกไปได้เลย

ธุรกรรมการเงิน BIG DATA ที่นำมาสู่การพัฒนาในอนาคต

สิ่งที่ตามมาจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย นอกจากประโยชน์ทางตรงอย่างเรื่องความสะดวกสบายในการใช้จ่ายแล้ว ยังมีประโยชน์ทางอ้อมอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการใช้จ่ายที่นำไปสู่ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพนำเงินมาพัฒนาประเทศและสวัสดิการสำหรับช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว สถาบันการเงินหรือหน่วยงานด้านการเงินการคลังของประเทศยังสามารถจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมในการใช้จ่ายในเชิงสถิติ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การรู้ข้อมูลของธุรกิจหรือร้านค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถนำมาวางแผนการพัฒนาภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต รวมไปถึงการเห็นข้อมูลการใช้จ่ายที่กระจุกตัวหรือกระจายตัวในแต่ละพื้นที่ นำมาสู่การกำหนดแผนหรือเป้าหมายในการพัฒนาเมืองหรือพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคตที่จะมีการใช้ประโยชน์จาก BIG DATA เข้ามาในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสถิติการใช้จ่ายของคนไทยผ่านระบบ Digital Payment ก็เป็นอีกหนึ่งในข้อมูลเชิงสถิติที่มีความสำคัญ และสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยได้อย่างแท้จริง


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
บทความที่น่าสนใจ