วช. ผนึกกำลัง ทีม EARTH และ มูลนิธิมดชนะภัย ลงพื้นที่ จ.เชียงราย หนุนงานวิจัย เพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” จำได้ไหม จำได้ไหว

          เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย โดยมี ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยในพื้นที่ เป็นผู้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งหมด 5 จุด ณ พื้นที่ จ.เชียงราย 

           จุดแรกคณะได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” นำโดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศุภโชค มาศปกรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 2 และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลให้การต้อนรับ 

          รศ.ดร.ธีรพันธ์ฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับความเสียหายตรงบริเวณช่วงจุดเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่าและใหม่ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาคารแตกเป็นรอยแนวตั้งยาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก และในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก โดยได้ทำการซ่อมแซมเพื่อความมั่นใจของประชาชนที่เข้ารับบริการ และเพิ่มเติมระบบป้องกันเพื่อเตรียมรับแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          จากนั้นคณะได้เดินทางไปยัง โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายพัฒน์พงษ์ เต็มเสาร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ กล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.อมรฯ ได้อธิบายว่า โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ อาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก 1 หลัง ต่อมาได้มีการสำรวจความเสียหายของสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินแล้วว่าต้องทุบทิ้งทั้งหมดอาคารเรียนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงได้ทำการทุบอาคารเรียนทิ้งและสร้างอาคารใหม่ทดแทน และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้มีการหารือกับวิศวกร เพื่อเสริมกำลังอาคารเรียนด้วยโครงสร้างใหม่ที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

            ต่อด้วยการเดินทางไปยังวัดดงมะเฟือง  นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มูลนิธิมดชนะภัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ กิจพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมหมอกแก้ว นายเหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดงมะเฟือง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลว่า ในขณะนั้น วิหารของวัดที่เสียหายบางส่วนจากเหตุแผ่นดินไหวก็ได้พังเสียหายทั้งหลัง และเกิดรอยร้าวที่เสากลางเพิ่มขึ้น ผนังหลังพระประธานพังทลายลง หลังคาหลุดร่อน ต้องรื้อทิ้งสร้างใหม่ทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากหลายภาคส่วนระดมเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว อีกทั้งได้รับความร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

          และคณะได้เดินทางไปยัง  “เขื่อนแม่สรวย” นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม กรมชลประทาน และคณะให้การต้อนรับ และนายทรงพล พงษ์มุกดา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตนั้นจากการตรวจวัดค่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000877g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้กรมชลประทานยังร่วมมือกับคณะวิจัยในการปรับปรุงโครงสร้างของเขื่อนให้มีความแข็งแรง ทนทาน และรองรับต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น

          และจุดสุดท้ายคณะได้เดินทางไปยัง  โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา  นำโดย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายรักษ์ชัย ฉัตรเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวต้อนรับ และรศ.ดร.สุทัศน์ฯ กล่าวว่า แม้ว่าในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวโรงเรียนจะได้รับความเสียหายไม่มากนัก แต่จากการดำเนินการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และอาคารของโรงเรียนมีรูปแบบที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยวิธีเสริมความแข็งแรงของเสาอาคารเรียน หรือ concrete jacketing ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้อาคารเดิมที่มีอยู่แล้วสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นและป้องกันความเสียแก่อาคารเรียนได้ดียิ่งขึ้น

          สำหรับผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นั้น นำไปสู่การสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ทันสมัย แต่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จาก “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. (EARTH)”


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar